ใบขับขี่นานาชาติ ทำยังไง ทำที่ไหน

เห็นชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านเรา แล้วเช่ารถขับกันเต็มบ้านเต็มเมือง หลายท่านคงจะมีข้อสงสัยและประเด็นคำถามว่า แล้วเขาเหล่านั้นมาขับรถในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายได้อย่างไร วันนี้ถือว่าเป็นการใช้รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับท่านเกี่ยวกับ “ใบขับขี่สากล” หรือที่เคยได้ยินกัน “ใบขับขี่ระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทำให้ชาวต่างชาติและเหล่านักท่องเที่ยวสามารถขับรถในบ้านเราได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีการสำหรับท่านที่กำลังมีแผนจะเดินทางไปทำงาน เรียนต่อหรือท่องเที่ยวในต่างแดน ซึ่งสามารถทำเก็บไว้เผื่อยามจำเป็น

ดังนั้น ในส่วนต่อจากนี้ เราจะพาทุกท่านได้ทำความรู้จักกับ “ใบขับขี่สากล” ว่าคืออะไร ควรต้องทำเก็บไว้หรือไม่ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างและมีอายุกี่ปี เรามาดูกันเลย

 

ใบขับขี่สากล คือ

 

ใบขับขี่สากล คือ

ใบขับขี่สากล หรือที่เรียกกันติดปากโดบทั่วไปว่าเป็นใบขับขี่นานาชาตินั้น คือ เอกสารที่ใช้สำหรับยืนยันว่าท่านสามารถขับรถยนต์ได้ในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเทศของตนเอง ทั้งนี้ สำหรับใครก็ตามที่มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อการทำงาน การศึกษาต่อซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการอยู่พำนักในต่างแดนที่ค่อยข้างนาน และการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว การมีเอกสารใบขับขี่สากลย่อมส่งผลดีและจะเอื้อประโยชน์ให้ท่านสามารถขับรถยนต์ได้

ใบขับขี่สากลใช้เอกสารอะไรบ้าง

สำหรับการเข้าทำใบขับขี่สากลนั้น ในส่วนนี้จะมีการแบ่งรายละเอียดและข้อมูลการเข้ารับบริการอยู่ 2 กรณีคือ การเข้าทำใบขับขี่สากลสำหรับคนไทย และการเข้าทำใบขับขี่สากลของชาวต่างชาติ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนั้นจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการเข้าทำใบขับขี่สากล ดังนี้

การทำใบขับขี่สากลสำหรับคนไทย

  • หนังสือเดินทางฉบับจริง ซึ่งจะต้องยังไม่สิ้นอายุ
  • บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง ซึ่งจะต้องยังไม่สิ้นอายุเช่นกัน
  • ใบอนุญาตขับขี่ไทยซึ่งจะต้องยังไม่สิ้นอายุ โดยท่านสามารถใช้ใบขับขี่ไทยที่มีอายุ 5 ปี หรือ ตลอดชีพก็ได้
  • รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 ใบ จะต้องไม่เคลือบมัน โดยรูปถ่ายนั้นจะต้องเป็นรูปที่ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน

การทำใบขับขี่สากลสำหรับชาวต่างชาติ

  • หนังสือเดินทางและวีซ่าฉบับจริงพร้อมสำเนา ทั้งนี้จะต้องไม่ใช่วีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว แข่งขันกีฬา หรือเป็นการเดินทางเพื่อผ่านเมือง
  • ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ โดยเป็นเอกสารที่ได้รับการรับรองโดยสถานทูตหรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฉบับจริงเท่านั้น หรือเป็นใบอนุญาตการทำงาน (Work Permit) หรือใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Work Permit) ที่มีการแสดงรายละเอียดที่อยู่ และจะต้องยังไม่สิ้นอายุ หรือเป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือมีหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศเป็นผู้ออกให้ ซึ่งจะต้องใช้เอกสารฉบับจริงพร้อมสำเนา
  • ใบอนุญาตขับขี่ไทยซึ่งจะต้องยังไม่สิ้นอายุ โดยท่านสามารถใช้ใบขับขี่ไทยที่มีอายุ 5 ปี หรือ ตลอดชีพก็ได้
  • รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 ใบ จะต้องไม่เคลือบมัน โดยรูปถ่ายนั้นจะต้องเป็นรูปที่ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน

นอกจากนี้ สำหรับท่านที่มีเหตุจำเป็นและไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ด้วยตนเอง ท่านสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเข้าดำเนินการแทนได้ โดยจะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมในส่วนของการมอบอำนาจ ดังนี้

  • ใบมอบอำนาจ
  • บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ ฉบับจริงพร้อมสำเนา
  • หลักฐานของผู้มอบอำนาจที่จะใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล ซึ่งจะต้องเป็นสำเนาพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง 2 ฉบับ

ทั้งนี้จากรายละเอียดและข้อมูลทั้งหมดที่เราได้รับจาก กรมการขนส่งทางบก มีรายละเอียดระบุไว้ว่าการดำเนินการและค่าธรรมเนียมนั้นจะอยู่ที่ 505 บาท โดยเอกสารทุกรายการจะต้องเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดถูกต้องตรงกัน

 

ใบขับขี่สากล อยู่ได้กี่ปี ใช้ได้กี่ประเทศ

 

ใบขับขี่สากล อยู่ได้กี่ปี ใช้ได้กี่ประเทศ

จากรายละเอียดอ้างอิงตามอนุสัญญาเจนีวา ปี ค.ศ.1949 และอนุสัญญาเวียนนา ปี ค.ศ.1968 ได้ระบุว่าใบขับขี่สากลนั้น จะสามารถมีอายุและใช้ได้ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

  • ใบอนุญาตขับระหว่างประเทศ อนุสัญญาเจนีวา 1949 มีอายุ 1 ปี สามารถนำไปใช้ได้ใน 101 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ แอฟริกากลาง อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น
  • ใบอนุญาตขับระหว่างประเทศ อนุสัญญาเวียนนา 1968 มีอายุ 3 ปี สามารถนำไปใช้ได้ใน 84 ประเทศทั่วโลก เช่น บาห์เรน อิหร่าน ฮังการี กรีซ จอร์เจีย ฟินแลนด์ บราซิล เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

และสำหรับประเทศที่ได้เข้าร่วมอนุสัญญาทั้งสองฉบับ อาทิ ออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ตุรกี สวีเดน และไทย สามารถใช้ใบขับขี่สากลที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 ซึ่งมีอายุ 3 ปี เป็นหลัก และสำกรับท่านที่ต้องทราบรายชื่อประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมอนุสัญญาทั้งสองฉบับก็สามารถเข้าดูรายชื่อได้ ที่นี่ ซึ่งเป็นการจัดทำข้อมูลไว้ให้ท่านแล้วโดย กรมขนส่งทางบก

ใบขับขี่สากล ต้องทำยังไง

สำหรับท่านที่ต้องการติดต่อเข้าทำใบขับขี่สากล หรือใบขับขี่นานาชาตินั้น แต่เดิมทุกท่านจะต้องดำเนินการเข้าทำใบขับขี่ด้วยกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการเข้าทำใบขับขี่ทั่วไป ซึ่งจะต้องเข้าอบรม และสอบซึ่งจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน แต่ในปัจจุบัน ทุกท่านไม่จำเป็นต้องเสียเวลามากมายขนาดนั้น เพราะด้วยระบบแอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue นั้น ทุกท่านจะสามารถเข้าจองคิวการให้บริการล่วงหน้าได้ทั้งหมด ซึ่งเพียงดาวน์โหลดและเข้าใช้งานแอป ท่านจะสามารถจองคิว เลือกวัน เวลา และสถานที่เข้ารับบริการได้ และหลังจากนั้นก็ให้ท่านดำเนินการตามขั้นตอนการทำใบขับขี่สากล ซึ่งไม่มีแตกต่างไปจากการทำใบขับขี่ทั่วไป ซึ่งมีกระบวนการดังนี้

  • จองคิวและเข้ารับการให้บริการตามวันที่ได้นัดหมายซึ่งต้องทำการผ่านแอป หรือเว็บไซต์เท่านั้น ที่นี่
  • ตรวจสอบเอกสารและออกคำขอ
  • ชำระค่าธรรมเนียม (จะมีการปิดระบบรับชำระเวลา 15.30 น.) จัดทำต้นขั้วใบขับขี่
  • จ่ายใบขับขี่

ทั้งนี้สำหรับการเข้าจองคิวในแอปนั้น ทุกท่านจะต้องแจ้งความประสงค์ว่าท่านจะต้องนำใบขับขี่สากลที่ได้นั้น ไปใช้ในประเทศใด เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบรายชื่อประเทศนั้น ๆ ว่าเป็นประเทศที่เข้าร่วมภาคีตามอนุสัญญาหรือไม่ หรือเป็นประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวของท่านเอง ที่นี่ ซึ่งจะเป็นรายชื่อประเทศที่ท่านสามารถนำใบขับขี่สากลของประเทศไทยไปใช้ได้ และสำหรับท่านที่ไม่สามารถเข้ารับการให้บริการด้วยตัวท่านเอง ท่านสามารถมอบอำนาจและเตรียมเอกสารตามข้อมูลที่เราได้นำเสนอไป

 

การนำรถโดยสารที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในไทย

 

การนำรถโดยสารที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาในไทย

สำหรับท่านที่ต้องมีการดำเนินการนำรถที่มีทะเบียนต่างประเทศเข้ามายังในประเทศไทยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำรถของประเทศเพื่อนบ้าง ทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ เข้ามาเพื่อท่องเที่ยวนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับและให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

  • การนำรถที่จดทะเบียนต่างประเทศเข้าไทยถึงเขตชุมชนนั้น จะต้องปฏิบัติตามมาตรการคือ
    • การผ่านเข้าด่านสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ถึงไม่เกินเขตท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
    • การผ่านเข้าด่านเบตง จังหวัดยะลา ถึงไม่เกินเขตท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
    • การผ่านเข้าด่านสตูล จังหวัดสตูล ถึงไม่เกินเขตท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
    • การผ่านเข้าด่านสะเดา หรือด่านปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ถึงไม่เกินเขตท้องที่อำเภอหาดใหญ่ หรืออำเภอเมืองจังหวัดสงขลา

ให้ผู้นำรถเข้านั้น เข้าแจ้งความจำนงด้วยวิธีรายงานเป็นหนังสือต่อกรมการขนส่งทางบกตามแบบที่ 1

  • หากท่านมีความประสงค์ที่จะนำรถวิ่งเข้ามาในประเทศไทยไกลกว่าจุดที่กำหนด ในข้อที่ 1 นั้น แต่ยังอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูลและสงขลา ท่านต้องยื่นคำขอรับอนุญาตเป็นหนังสือต่อกรมขนส่งทางบกเป็นการล่วงหน้า ณ สถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยในประเทศที่รถนั้นจะทะเบียน
  • หากท่านต้องการนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยและพาผู้โดยสารไปยังเขตจังหวัดอื่น ๆ ไกลกว่าจุดที่กำหนดในข้างต้น ท่านจะต้องเปลี่ยนไปใช้รถโดยสารรับจ้างที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งและจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมายไทยเท่านั้น

อ้างอิง 1 2